คนส่วนใหญ่มักเข้าใจการรักษารากฟันไม่ถูกต้อง โดยคิดว่าฟันที่โยกคลอนไปแล้วนั้นจะสามารถรักษาให้หายกลับมาแน่นหนามั่นคงเป็นปกติได้ด้วยการรักษารากฟัน
การรักษารากฟัน หมายถึง การตัดเส้นประสาทที่อยู่ในตัวฟันออก ฟันที่ต้องรับการรักษารากฟันส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากฟันผุลึกจนติดเชื้อเข้าไปถึงประสาทฟันจนกระทั่งประสาทฟันถูกทำลายและเกิดอาการอักเสบขึ้นมา
เมื่อทันตแพทย์ตัดเส้นประสาทฟันออกและทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ พร้อมทั้งอุดรากฟันให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อาการปวดฟันดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้นมาอีก
การรักษารากฟัน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยถนอมฟันให้ได้ใช้งานต่อไปโดยไม่ต้องถอนฟันออก แต่เนื่องจากฟันที่ผ่านการรักษารากฟันไปแล้วนั้นจะมีสภาพเปราะบางและแตกง่าย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการรักษาด้วยการครอบฟันหลังจากที่มีการรักษารากฟันไปแล้ว
ลักษณะฟันที่อาจต้องรักษาคลองรากฟัน มีอาการเบื้องต้นดังนี้
- ฟันที่ผุจนถึงโพรงประสาทและแสดงอาการปวด
- ฟันมีสีคล้ำผิดปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณของการมีเลือดออกในฟันหรืออาจจะเป็นฟันตาย
- ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุบิ่นหรือแตกหัก
- ฟันที่อุดไว้แล้วแต่มีตุ่มหนองเกิดขึ้นบริเวณเหงือกใกล้ๆ ปลายรากฟัน
- ฟันที่มีรอยร้าวและมีอาการเสียวมากขณะรับประทานอาหารร้อนหรือเย็นจัด
การรักษาคลองรากฟันมีขั้นตอนดังนี้
- เพื่อไม่ให้เกิดอาหารเสียวหรือเจ็บฟัน เบื้องต้นทันตแพทย์จะฉีดยาชาและใส่ที่กันน้ำลาย เพื่อให้บริเวณพื้นที่ของการรักษาคลองรากฟันสามารถควบคุมน้ำลาย เชื้อแบคทีเรีย และฝุ่นที่เกิดจากการกรอฟัน รากฟันจึงจะสะอาด
- ขยายและทำความสะอาดคลองรากฟัน
- อุดคลองรากฟัน
- ซ่อมแซมตกแต่งตัวฟันให้ใช้งานได้ พร้อมสังเกตดูอาการประมาณ 2-3 เดือน
- ใส่เดือยและครอบฟันเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของฟันให้ฟันสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่