22

การอุดฟัน

การอุดฟันคืออะไร

การอุดฟัน คือ การบูรณะฟันแบบหนึ่งโดยใช้วัสดุอุดฟันเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป เพื่อให้ได้รูปร่างฟันคงเดิมเกิดความแข็งแรง สามารถใช้งานได้ตามปกติ การทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปจากกรณีต่างๆ ดังนี้

  1. ฟันผุ
  2. ฟันสึก
  3. ฟันแตกหักหรือบิ่นเนื่องจากอุบัติเหตุ
  4. วัสดุอุดเก่าชำรุด บิ่น หรือรั่ว

เพื่อให้กลับมามีรูปร่างฟันตามปกติ สามารถใช้บดเคี้ยวอาหารได้ รวมถึงมีความสวยงาม โดยเฉพาะในบริเวณฟันหน้า ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและวินิฉัยว่าควรได้รับการอุดฟันหรือไม่

general dentistry

การเตรียมตัวก่อนการอุดฟัน

  • หากมีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาประจำอยู่ ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่และทันตแพทย์ทราบก่อนเสมอ
  • ควรแปรงฟันและบ้วนปากมาจากที่บ้านเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจฟัน

ควรทานอาหารมาก่อนเพราะในกรณีที่ทำการอุดฟันแบบโลหะจะต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมงก่อนถึงจะรับประทานอาหารได้

ขั้นตอนการอุดฟัน

ทันตแพทย์จะทำการตรวจเช็คสุขภาพฟันก่อนว่ามีปัญหาฟันผุมากน้อยแค่ไหน สามารถทำการอุดฟันเพื่อแก้ไขได้หรือไม่  ในบางกรณีอาจต้องเอ็กซเรย์เพื่อเช็คละเอียด

  1. ทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชา(ในกรณีที่ผุลึกใกล้โพรงประสาท) จากนั้นทันตแพทย์จะทำการกรอฟันเพื่อกำจัดรอยผุที่ติดเชื้อ และเตรียมโพรงฟันให้เหมาะสำหรับการอุด 
  2. หลังจากทำการกรอฟันแล้ว ทันตแพทย์จะใส่วัสดุอุดฟันไปในบริเวณฟันที่ผุซึ่งในขั้นตอนนี้การอุดฟันแบบโลหะและการอุดฟันสีเหมือนฟันจะมีขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไป โดยการอุดฟันสีเหมือนฟันนั้นจะมีการฉายแสงเพิ่มเข้ามาช่วยในการอุดฟัน
  3. เมื่อทันตแพทย์ใส่วัสดุอุดฟันเสร็จแล้วก็จะทำการขัดแต่งให้ดูดีและสวยงามพร้อมใช้งาน

วัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน

fillings

วัสดุอุดฟันที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมีดังนี้

  1. วัสดุอุดโลหะ (อะมัลกัม)
  2. วัสดุอุดสีเหมือนฟัน (เรซินคอมโพสิต)

ปัจจุบันวัสดุอุดแบบอมัลกัม ไม่เป็นที่นิยมแล้ว เนื่องจากมองเห็นสีวัสดุอุดฟันค่อนข้างชัด ไม่เหมาะสำหรับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม และมีหลายๆคนที่กังวลเกี่ยวกับปรอทซึ่งเป็นส่วนผสมในอมัลกัม

วัสดุอุดสีเหมือนฟัน (เรซินคอมโพสิต)

เป็นวัสดุอุดที่มีสีใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ จึงมักถูกเลือกใช้สำหรับบริเวณที่ต้องการความสวยงาม ปัจจุบันวัสดุอุดนี้มีความแข็งแรง สามารถรับแรงบดเคี้ยวได้ดี

ข้อดีการอุดฟันวัสดุสีเหมือนฟัน

  • มีความสวยงามเนื่องจากมีสีที่เหมือนฟันธรรมชาติ
  • สามารถใช้ได้ทั้งฟันหน้าและฟันกราม
  • สามารถใช้งานฟันได้ทันที ไม่ต้องรอ 24 ชั่วโมงเหมือนการอุดฟันแบบโลหะ
  • ปลอดภัยเนื่องจากตัววัสดุไม่มีสารปรอทผสม

ฟันที่ได้รับการอุดจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน

ความคงทนของวัสดุอุดนั้นขึ้นอยู่กับ

  1. ชนิดของวัสดุอุดที่ใช้
  2. การบดเคี้ยว การใช้งาน การเลือกรับประทานอาหาร ที่ไม่แข็ง และเหนียวเกินไป
  3. การดูแลรักษาความสะอาดช่องปากที่ดี
  4. พฤติกรรมของแต่ละบุคคล เช่น นอนกัดฟัน การแปรงฟันแรงเกินไป เป็นต้น

สรุป

การอุดฟัน เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียเนื้อฟันที่เกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ เท่านั้น แต่การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตนเอง ด้วยการแปรงฟันที่ถูกวิธี ลดพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่ดี เช่น การกินอาหารที่เหนียวติดฟัน การใช้ฟันผิดหน้าที่ ชอบเคี้ยวของแข็ง ฯลฯ และมาพบทันตแพทย์เป็นประจำ ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก