ครอบฟันเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาฟันที่ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะจากการผุกร่อน หรืออุบัติเหตุ ซึ่งครอบฟันจะทำหน้าที่ทดแทนฟันที่สูญเสียไปให้กลับมาเหมือนเดิม รวมถึงยังสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย โดยมีรูปร่างและสีคล้ายคลึงกับฟันแท้ธรรมชาติซี่อื่น ๆ อย่างมาก โดยในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักเกี่ยวกับครอบฟันว่าคืออะไร พร้อมทำความเข้าใจให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบหรือประเภทของครอบฟัน และขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำครอบฟัน
ทำความรู้จักกับ ครอบฟัน
ครอบฟัน (Crown) เป็นวิธีการรักษาทางทันตกรรมที่มีหน้าที่หลักคือการทดแทนเนื้อฟันจริง ๆ ที่เสียหายไป ด้วยวิธีการกรอเนื้อฟันที่ได้รับความเสียหายออกไป จากนั้นจึงจะใส่ครอบฟันลงไปบนฟันทั้งซี่นั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่เนื้อฟันแท้ธรรมชาติที่ยังคงอยู่ อีกทั้งยังเป็นการรักษาเพื่อให้คนไข้สามารถกลับมาใช้งานฟันในการรับประทานอาหารอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
ประเภทของครอบฟัน
โดยทั่วไปแล้ว การแบ่งประเภทของครอบฟันมักแบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิตครอบฟัน ซึ่งมีความหลากหลายและมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป ดังนั้นแล้ว เรามาดูกันดีกว่าในปัจจุบัน วัสดุที่นิยมนำมาผลิตครอบฟันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
ครอบฟันโลหะล้วน (Full Metal Crown : FMC)
ครอบฟันประเภทนี้มีความโดดเด่นในด้านความแข็งแรงทนทาน เหมาะสำหรับการใช้ทำครอบฟัน รักษาฟันกราม เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง แต่กระนั้น ข้อเสียของครอบฟันโลหะล้วนคือ สีที่ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งหลังจากใส่ครอบฟันประเภทนี้แล้ว จะไม่กลมกลืนกันฟันซี่อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม คนไข้ไม่จำเป็นต้องกังวลไป เพราะส่วนใหญ่แล้วนิยมใช้รักษาฟันกรามที่อยู่ด้านใน ทำให้ไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์มากนัก
ครอบฟันเรซิน (All-Resin Crown : ARC)
ปกติแล้วนิยมใช้สำหรับการผลิตครอบฟัน รักษาฟันส่วนหน้ามากที่สุด เพราะว่าวัสดุเรซิน (Resin) นั้นมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังมีสีใส ทำให้กลมกลืนกันสีฟันซี่อื่น ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ แต่ข้อเสียคือ ความแข็งแรงที่ไม่มากนัก จึงเป็นเหตุว่าทำไมถึงไม่นิยมทำครอบฟัน เพื่อการรักษาฟันกราม หรือฟันส่วนหลัง
ครอบฟันโลหะเคลือบเซรามิก (Porcelain-Fused-to-Metal Crown : PFM)
ข้อดีของครอบฟันประเภทนี้คือการผสมผสานกันระหว่างความแข็งแรงของประเภทโลหะ และความสวยงามของเซรามิก (Ceramic) ทำให้ครอบฟันโลหะเคลือบเซรามิกมีความสวยงามที่โดดเด่น แต่ยังคงความแข็งแรง ทนทานอยู่ อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือ จำเป็นต้องกรอเนื้อฟันออกค่อนข้างมากถึงจะสามารถใส่ครอบฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ครอบฟันเซรามิกล้วน (All-Ceramic Crown : ACC)
ส่วนใหญ่แล้วครอบฟันเซรามิกล้วนนี้เหมาะสำหรับคนไข้ผู้ที่แพ้โลหะ ทำให้ไม่สามารถใช้ครอบฟันที่มีโลหะผสมได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าครอบฟันประเภทนี้จะมีความสวยงามและแข็งแรง แต่ก็ยังไม่แข็งแรงมากพอ เมื่อเทียบกับครอบฟันโลหะ จึงไม่เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีพฤติกรรมกัดฟัน หรือชอบใช้ฟันกัดแทะ แกะสิ่งของต่าง ๆ
โดยครอบฟันเซรามิกล้วนยังสามารถแบ่งได้อีก 2 ประเภท ตามวัสดุที่ใช้ ประกอบด้วย ครอบฟันแก้วเซรามิกที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ และอีกหนึ่งประเภทคือ ครอบฟันเซอร์โคเนียที่มีความแข็งแรงกว่าครอบฟันเซรามิกทั่วไปนั่นเอง
ครอบฟันสแตนเลสสตีล (Stainless Steel Crown : SSC)
คุณสมบัติที่เด่นชัดของครอบฟันประเภทนี้คือ การไม่เป็นสนิม นอกจากนี้ยังมีความง่าย และใช้เวลาไม่นานในการทำครอบฟัน ซึ่งนิยมใช้สำหรับการทำฟันน้ำนมเด็ก เป็นเพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเด็กมีความอดทนไม่มากนัก จึงไม่สามารถทำฟันได้นานและซับซ้อนมากได้
ขั้นตอนการทำครอบฟันที่คุณอาจจะยังไม่รู้!
1. การตรวจสอบสุขภาพช่องปาก
เริ่มต้นทันตแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพช่องปากของคนไข้ว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งออกแบบและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน ซึ่งนอกจากนี้ทันตแพทย์จะประเมินว่าคนไข้สามารถทำครอบฟันได้หรือว่า ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสมหรือความเสี่ยงการรักษา เป็นต้น
2. การพิมพ์ปาก
หลังจากการประเมินจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรียบร้อยแล้ว และทันตแพทย์เห็นว่าคนไข้สามารถทำครอบฟันได้ จากนั้นทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากคนไข้ เพื่อทำครอบฟันชั่วคราวให้แก่คนไข้
3. การกรอฟัน
หลังจากผ่านไปหนึ่งวัน นับตั้งแต่วันที่พิมพ์ปาก ทันตแพทย์จะนัดหมายคนไข้เพื่อทำการกรอฟัน โดยเริ่มที่การฉีดยาชา จากนั้นจึงจะทำการกรอฟันคนไข้ พร้อมทั้งเลือกสีฟันที่เหมาะสม ก่อนจะทำการพิมพ์อีกครั้ง เพื่อทำครอบฟันถาวร ซึ่งระหว่างการทำครอบฟันถาวรนั้น ทันตแพทย์จะให้คนไข้ใส่ครอบฟันชั่วคราวก่อน
4. ใส่ครอบฟัน
เมื่อครอบฟันถาวรเสร็จสิ้นแล้ว คนไข้ต้องเข้าพบทันตแพทย์ตามวันเวลาที่นัดหมาย เพื่อนำครอบฟันชั่วคราวออก ก่อนจะใส่ครอบฟันถาวรแทน โดยในขั้นตอนนี้ ทันตแพทย์จะทำการกรอฟัน พร้อมตกแต่งเนื้อฟัน เพื่อความเหมาะสมและพอดีของการใส่ครอบฟัน
5. ติดกาวทันตกรรม
ซึ่งหลังการใ่ส่ครอบฟันแล้ว จำเป็นต้องตรวจสอบปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจสอบการสบของฟัน การตรวจสอบความพอดี ความเรียบร้อย รวมไปถึงการตรวจสอบความเสี่ยงและปัญหาอื่น ๆ ก่อนจะใช้กาวทันตกรรมยึดครอบฟันถาวรให้แน่นมากที่สุด เพื่อป้องกันการหลุดหรือเคลื่อนขณะใช้งานนั่นเอง
6. การติดตามอาการ
หลังจากการใส่ครอบฟันถาวรเสร็จสิ้นแล้ว 1 สัปดาห์ต่อมา ทันตแพทย์จะนัดหมายคนไข้ เพื่อตรวจสอบสภาพฟัน พร้อมสอบถามอาการข้างเคียงหรืออาการผิดปกติ รวมไปถึงประสิทธิภาพการใช้งานจริงของครอบฟัน เพื่อหาทางแก้ไขและรักษา ซึ่งหากไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ นั้น ทันตแพทย์จะนัดหมายอีกครั้งทุก ๆ 6 เดือน
บทสรุป
ครอบฟันไม่เพียงแต่จะช่วยรักษาสุขภาพฟันได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ที่มีปัญหาฟันที่ไม่สวยงามหรือเสี่ยงต่อการแตกหักได้อีกด้วย โดยในปัจจุบัน ครอบฟันแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภทตามชนิดวัสดุที่ใช้ผลิตครอบฟัน ประกอบไปด้วย โลหะล้วน เรซิน โลหะเคลือบเซรามิก เซรามิกล้วน และสแตนเลสสตีล ซึ่งแต่ละประเภทก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมกับสุขภาพปัญหาช่องปากของคนไข้
Dental Design Center คลินิกทำฟัน พัทยา ให้บริการทันตกรรมที่ครอบวงจร ตอบโจทย์ทุกปัญหาช่องปากของคนไข้อย่างครอบคลุม ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย โดยให้ความสนใจด้านความสะอาดเป็นหลัก เพื่อให้ผลการรักษาออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าไปรับชมบริการได้ที่เว็บไซต์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 094-960-4966