22

การถอนฟัน ถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด

สาเหตุที่ต้องถอนฟัน

การถอนฟันเป็นการรักษาที่ทันตแพทย์จะวางแผนการรักษาเป็นวิธีสุดท้าย เพราะหากฟันยังสามารถรักษาด้วยการรักษาทันตกรรมวิธีอื่น ๆ ได้ ก็จะเลือกวิธีการรักษานั้นก่อน เพราะการถอนฟันคือการสูญเสียฟันธรรมชาติไปอย่างถาวร และอาจจะสร้างปัญหาให้ฟันซี่ข้างเคียงให้เกิดการเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่เปลี่ยนไปจากเดิมได้หากไม่ได้ใส่ฟันปลอม สาเหตุที่ต้องถอนฟันเกิดขึ้นได้จากหลายอย่างได้แก่

  1. ฟันผุ ฟันผุลึกและใหญ่มากและไม่ได้รับการรักษาเป็นระยะเวลานานจะทำให้คราบจุลินทรีย์ทำลายไปถึงโพรงประสาทฟัน จนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันหรือรักษารากฟัน มีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง ซึ่งหากปล่อยไว้อาจลุกลามไปยังฟันซี่ข้างเคียงได้
  2. โรคเหงือก หรือโรคปริทันต์ โรคเหงือกอย่างรุนแรง (gum disease) และโรคปริทันต์ จะทำให้กระดูกรองรับรากฟันมีการละลายตัว และฟันโยก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้ฟันหลุด หรือต้องถอนฟัน
  3. ฟันหัก หรือเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีความจำเป็นต้องถอนฟัน เนื่องจากเนื้อฟันเหลือน้อยเกินไปจนไม่สามารถแก้ไขด้วยการอุดฟัน รักษารากฟัน หรือครอบฟันได้
  4. อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถขึ้นได้ และหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ฟันคุด, ฟันฝัง
  5. จัดฟัน ทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้วางแผนการรักษาว่าจะต้องถอนฟันร่วมกับการจัดฟันหรือไม่ ถอนซี่ไหนบ้าง เพื่อให้เกิดช่องว่างช่วยในการเรียงตัวของฟันใหม่ ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของผู้ที่จะจัดฟันแต่ละคน

การเตรียมตัวก่อนการถอนฟัน

  • ให้ประวัติสุขภาพของตนเองแก่ทันตแพทย์ตามจริงและครบถ้วน รวมถึงประวัติการแพ้ยาด้วย เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาทันตกรรมที่ต้องฉีดยาชาเฉพาะที่ อีกทั้งยังมีเลือดออกขณะและหลังถอนฟัน รวมถึงทันตแพทย์จะสั่งยาแก้ปวดและยาปฎิชีวนะร่วมด้วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบหลังจากถอนฟัน ดังนั้นควรแจ้งทันตแพทย์ให้ครบถ้วน
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคตับ โรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้นหรือมียาที่รับประทานเป็นประจำ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ เพื่อให้ทันตแพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ในบางกรณีอาจต้องไปปรึกษาคุณหมอประจำตัวก่อน เช่นในกรณีที่คนไข้รับประทานยาละลายลิ่มเลือดทุกวัน ก่อนการถอนฟัน ทันตแพทย์อาจต้องให้หยุดยาก่อนการรักษาประมาณ 3-5 วัน
  • ควรรับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนมาถอนฟัน เนื่องจากคนไข้จะรู้สึกชา เมื่อหายชาอาจมีอาการปวดและไม่อยากรับประทานอาหาร

ขั้นตอนการถอนฟัน

x ray teeth
  1. ทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปาก และทำการเอ็กซเรย์ฟัน โดยอาจทำเฉพาะซี่ที่จะถอน หรือในบางครั้งคุณหมออาจพิจารณาเอ็กซเรย์แบบพาโนรามา ซึ่งจะทำให้เห็นปัญหาในช่องปากทั้งหมด โดยสามารถบอกสภาพฟัน รากฟันและกระดูกรองรับฟันได้
  2. ทายาชาเพื่อให้บริเวณที่จะฉีดยาชารู้สึกน้อยที่สุด และฉีดยาชาบริเวณที่จะทำการถอนฟัน
  3. เมื่อคนไข้รู้สึกชาเต็มที่แล้ว ทันตแพทย์จะค่อยๆโยกฟันทีละนิดอย่างนุ่มนวล จนฟันหลุดออกมา
  4. หลังจากถอนฟันแล้ว ให้กัดผ้าก๊อชที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ประมาณ 30-60 นาที เพื่อให้เลือดหยุดไหล

หลังการถอนฟัน คนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันที เลือดจะหยุดไหลภายในเวลาสั้นๆ และแผลจะสามารถสมานตัวได้เอง แต่การดูแลรักษาความสะอาดยังคงมีความสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลได้ และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ หรือการอยู่กลางแจ้ง

คำแนะนำหลังการถอนฟัน

  • ควรกัดผ้าก๊อซแน่นๆประมาณ 30-60 นาที เพื่อห้ามเลือด และควรเปลี่ยนผ้าชิ้นใหม่หลังจากนั้นจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  • ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากภายใน 6 ชั่วโมงหลังการถอนฟัน
  • ห้ามใช้ลิ้นดุนหรือดูดแผลเล่น จะทำให้เลือดไม่หยุดไหล
  • ในกรณีที่มีเลือดออกเล็กน้อย ควรทำการอมน้ำเกลือเย็นๆไว้สักครู่
  • ไม่ควรบ้วนน้ำภายใน 12 ชั่วโมงหลังการถอน
  • สามารถบ้วนปากได้ด้วยน้ำเกลือ ( เกลือ 1 ช้อนชา + น้ำอุ่น 1 แก้ว) 12 ชั่วโมงหลังการถอนฟัน
  • สามารถแปรงฟันได้ตามปกติแต่ควรให้ความระมัดระวังบริเวณแผล
  • ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เย็นๆ และรสไม่จัดในช่วง 2 – 3 วันแรก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้แผลหายช้า
  • รับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำ และใช้น้ำแข็งประคบประมาณ 15-30 นาที เพื่อลดอาการเจ็บปวดและอาการบวม
  • อาการปวดหลังการถอนสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่สั่งโดยทันตแพทย์

การผ่าฟันคุด

ฟันคุด คืออะไร

ฟันคุด (Wisdom tooth)  คือ ฟันกรามซี่ในสุด เป็นฟันกรามแท้ชุดสุดท้ายที่จะออกมาตอนช่วงอายุระหว่าง18 ถึง 20 ปี ซึ่งในความเป็นจริงฟันกรามชุดนี้ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากฟันซี่อื่นๆเลย มีความสามารถในการบดเคี้ยวเท่าเทียมกับฟันกรามซี่อื่นๆ เพียงแต่น้อยคนนักที่มีฟันกรามขึ้นมาตามปกติพร้อมกับมีตำแหน่ง ลักษณะการขึ้นที่เหมาะสมและมีเหงือกโดยรอบที่มีสุขภาพดี

ทำไมต้องผ่าฟันคุด 

ในบางรายที่ถึงแม้ฟันกรามซี่ในสุดจะสามารถขึ้นมาได้อย่างปกติก็ตามทันตแพทย์ก็ยังอาจแนะนำให้ทำการถอนออกไป ถ้าเล็งเห็นว่าฟันซี่นั้นไม่มีประโยชน์ อาจมีผลกระทบต่อการบดเคี้ยวและฟันซี่ข้างเคียง หรือมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคเหงือกหรือการอักเสบบริเวณนั้นได้ เนื่องจากการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณด้านในสุดของช่องปากนั้นมีความยากลำบาก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ฟันกรามซี่หลังนั้นสามารถผุได้ง่าย รวมถึงการอักเสบของเหงือกอีกด้วย อย่างไรก็ตามทันตแพทย์จะพิจารณาอาการและปัญหาพร้อมวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปของผู้เข้ารับบริการแต่ละบุคคล และโดยส่วนใหญ่สาเหตุที่ทันตแพทย์แนะนำให้ผ่าฟันคุด มีปัจจัย ดังนี้

  • มีผลกระทบต่อการสบฟัน
  • ไม่มีประโยชน์ในการใช้งาน
  • การเกิดโรคเหงือก เมื่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ฟันคุดเกิดการอักเสบ จะทำให้เกิดอาการบวมและยากต่อการทำความสะอาด อาจทำให้เกิดฟันผุอีกด้วย
  • ฟันผุ อาการเหงือกบวมจากฟันคุดจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน และทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปเจริญเติบโต และก่อให้เกิดฟันผุตามมา อาจส่งผลลุกลามไปยังฟันซี่ข้างๆ ให้ผุตามไปด้วย
  • เป็นสาเหตุให้การบูรณะฟันซี่ข้างเคียงทำได้อย่างยากลำบาก
  • จัดฟัน หากฟันคุดซี่นั้นส่งผลกระทบต่อการจัดฟัน ทำให้ผลลัพธ์การจัดฟันไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
  • มีโอกาสทำให้เกิดถุงน้ำ เมื่อมีฟันคุดเนื้อเยื่อรอบอาจพัฒนาเป็นถุงน้ำหรือเนื้องงอกได้ และด้วยฟันคุดที่มักอยู่ติดกับขากรรไกร จึงดันเบียดกินกระดูกขากรรไกรไปเรื่อยๆ ในอนาคตจะส่ง ผลให้ใบหน้าผิดรูป มีโอกาสในการสูญเสียอวัยวะขากรรไกร และกระดูกขากรรไกรหักง่ายหากมีการกระทบ

อาการฟันคุด เป็นอย่างไร

อาการต่างๆ ที่เกิดจากการที่ฟันคุดเริ่มงอกออกจากเหงือกมีดังนี้

  • อาการปวดบริเวณเหงือก
  • เกิดการอักเสบติดเชื้อ
  • อาการบวมที่แก้มและใบหน้า
  • อาการเหงือกบวม

หากท่านเป็นคนที่เข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คทุก 6 เดือน – 1 ปีอยู่แล้ว ในช่วงอายุประมาณ 17-20 ปีทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ทำการตรวจเอกซเรย์ เช็คดูว่าฟันซี่สุดท้ายมีลักษณะอย่างไรบ้าง มีฟันคุดซ้อนตัวอยู่หรือไม่ อยู่ในตำแหน่งใด และหากตรวจพบทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าฟันคุดออกเสียตั้งแต่ยังไม่มีอาการเจ็บปวด เพราะถ้าปล่อยให้ฟันคุดต่อไปนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้ว ยังจะมีผลเสียต่อสุขภาพของช่องปากอีกด้วย การเข้ารับผ่าตัดตั้งแต่ระยะแรกนั้นช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง

ขั้นตอนการถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด

  1. ทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปากและพิจารณาถึงความจำเป็นในการถอนฟัน
  2. ทำการถ่ายเอ็กซเรย์เพื่อจะได้เห็นสภาพฟัน รากฟันและกระดูกรองรับฟันทั้งหมด
  3. ทันตแพทย์จะตรวจสอบประวัติด้านสุขภาพของคนไข้ ซึ่งผู้ป่วยควรให้ข้อมูลด้านสุขภาพของตนที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อได้รับการถอนฟัน ปัญหาการหยุดไหลของเลือด ปัญหาสุขภาพเช่นโรคตับ และโรคเบาหวาน และการแพ้อาหารและยาประเภทต่างๆ เป็นต้น
  4. ฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปยังจุดใกล้เคียงบริเวณที่ผ่าตัด ซึ่งก่อนฉีดนั้นแพทย์ก็จะทำให้บริเวณเหงือกที่จะทำการฉีดยานั้นเกิดความรู้สึกชา โดยการใช้ยาชาเฉพาะจุดจะทำให้ไม่รู้สึกเจ็บบริเวณที่ผ่าตัดการผ่าตัดเปิดเหงือก
  5. เมื่อคนไข้รู้สึกชาเต็มที่แล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มลงมือทำการผ่าตัดด้วยการใช้มีดกรีดที่เนื้อเยื่อเหงือกเพื่อเปิดให้เห็นกระดูกและฟันคุด และแบ่งฟันคุดออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำออกมา ก่อนจะค่อยๆคีบเศษฟันออกจากบริเวณแผล
  6. นำเศษฟันหรือกระดูกที่ตกค้างอยู่ออกจนหมด และล้างทำความสะอาดบริเวณแผล แล้วจึงเย็บปิดแผล
  7. ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาหลังผ่าฟันคุด
  8. ทันตแพทย์จะนัดมาเช็คแผลและตัดไหม หลังจากผ่าตัดประมาณ 7-14 วัน

หลังการถอนฟันหรือผ่าฟันคุด คนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันที เลือดจะหยุดไหลภายในเวลาสั้นๆ และแผลจะสามารถสมานตัวได้เอง แต่การดูแลรักษาความสะอาดยังคงมีความสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลได้ และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ

อาการหลังผ่าฟันคุด คนไข้อาจมีอาการบวมภายในช่องปากและแก้ม อาการบวมนี้จะค่อนข้างรุนแรงในช่วงวันแรกๆหลังจากผ่าตัด จากนั้นจะค่อยๆดีขึ้น ซึ่งสามารถประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมได้

คำแนะนำหลังผ่าฟันคุด

  • ประคบเย็นประมาณ 30 นาทีทันทีหลังการผ่าตัดเพื่อลดอาการบวม
  • ควรกัดผ้าก๊อซแน่นๆประมาณ 30 นาที เพื่อห้ามเลือด และควรเปลี่ยนผ้าชิ้นใหม่หลังจากนั้นจนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  • ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากภายใน 6 ชั่วโมงหลังการถอนฟัน
  • ในกรณีที่มีเลือดออกเล็กน้อย ควรทำการอมน้ำเกลือเย็นๆไว้สักครู่
  • ไม่ควรบ้วนน้ำภายใน 12 ชั่วโมงหลังการถอน
  • สามารถบ้วนปากได้ด้วยน้ำเกลือ ( เกลือ 1 ช้อนชา + น้ำอุ่น 1 แก้ว) 12 ชั่วโมงหลังการถอนฟัน
  • สามารถแปรงฟันได้ตามปกติแต่ควรให้ความระมัดระวังบริเวณแผล
  • ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เย็นๆ และรสไม่จัดในช่วง 2 – 3 วันแรก
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อาการปวดสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่สั่งโดยทันตแพทย์