ก่อนจัดฟันต้อง เอกซเรย์ฟัน ทำไม!!

image 44

โดยปกติก่อนจัดฟันทันตแพทย์ต้องทำการเอกซเรย์ฟันก่อน โดยให้ผู้จัดฟันเอกซเรย์ฟิล์ม 2 ฟิล์มที่สำคัญ คือ 1. ฟิล์ม Cephalometric X-Ray เป็นฟิล์มที่แสดงผลรายละเอียดของกะโหลกศีรษะด้านข้าง และ 2. ฟิล์ม Panoramic X-Ray เป็นฟิล์มที่แสดงผลของสภาพฟันทั้งหมด 

image 45

โดยทันตแพทย์จะนำผลที่ได้จากการเอกซเรย์ของฟิล์ม Cephalometric X-Ray มาพิจารณากะโหลกศีรษะด้านข้าง และโครงสร้างกระดูกขากรรไกรมีปัญหาหรือสิ่งผิดปกติหรือไม่ รวมถึงดูมุมฟันหน้าบนและมุมฟันหน้าล่างมีการยื่นออกมามากหรือน้อยเพียงใด และอาจจะต้องถอนฟันร่วมกับการจัดฟันด้วยหรือไม่ โดยนำผลฟิล์มมาประกอบการพิจารณาวางแผนการรักษาของกระบวนการจัดฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

image 46

ส่วนผลที่ได้จากฟิล์ม Panoramic X-Ray ที่แสดงสภาพฟันทั้งหมด ทันตแพทย์จะเห็นลักษณะฟันที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น ประเมินความแข็งแรงความยาวของรากฟันแข็งแรงหรือไม่ และอาจเกิดการละลายตัวของรากฟันซึ่งเป็นผลเสียในขณะทำการจัดฟัน  หรือรากฟันที่สั้นอยู่แล้วทันตแพทย์อาจพิจารณาถึงความไม่เหมาะสมกับการจัดฟัน หรือหากมีความประสงค์จัดฟันจริงๆ อาจเลือกใช้เครื่องมือที่มีการบังคับการเคลื่อนที่ของฟันทีละน้อย และยังสามารถนำผลฟิล์มมาพิจารณาเห็นลักษณะฟันคุดได้อีก เช่น บางคนเมื่อดูด้วยตาเปล่าในช่องปากมีสภาพฟันที่ครบสมบูรณ์เป็นปกติดีทุกซี่ แต่เมื่อดูผลฟิล์มแล้วอาจเห็นความผิดปกติมีฟันคุด ฟันเกินแอบซ่อนยู่ด้านในซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้นในกรณีนี้ทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผ่าเอาฟันคุดฟันเกินออกก่อน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับรากฟันเมื่อมีการเคลื่อนตัวของฟันขณะทำการจัดฟัน นอกจากนำผลฟิล์มมาพิจารณาสภาพฟันและปัญหาต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังสามารถตรวจพบเนื้องอกในกระดูกขากรรไกรที่ไม่เคยแสดงอาการใดๆ มาก่อนได้อีกด้วย  หากประสงค์จัดฟันทันตแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเอาเนื้องอกดังกล่าวออกก่อนการจัดฟัน

image 47

ประสิทธิภาพจากฟิล์ม Panoramic X-Ray ยังสามารถแสดงผลที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของฟันผุที่อยู่บริเวณซอกฟันหรือใต้เหงือกได้อีกเช่นกัน ซึ่งทันตแพทย์จะต้องทำการรักษาด้วยการอุดฟันก่อนที่จะเริ่มการจัดฟัน ฟิล์ม Panoramic X-Ray ยังพิจารณาเห็นการสึกกร่อนของบริเวรขากรรไกรมีมากหรือน้อยเพียงใด เนื่องจากผู้จะจัดฟันบางคนมีการสบฟันที่ผิดปกติอาจส่งผลให้เกิดอันตรายหรือเกิดความผิดปกติขึ้นที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร และในบางกรณีที่เป็นเด็ก ทันตแพทย์จะเอกซเรย์บริเวณข้อมือเพื่อใช้ผลประกอบการพิจารณาการรักษาว่าเด็กยังมีการเจริญเติบโตเหลืออยู่มากน้อยเพียงใดได้อีกด้วย