ครอบฟัน สะพานฟัน Crown&Bridge
ครอบฟัน
ครอบฟัน (Dental Crowns) คืออะไร
การทำครอบฟัน (Dental Crowns) คือการใช้วัสดุที่ดูเหมือนซี่ฟันปกติ สวมครอบหรือคลุมฟันที่เกิดการเสียหายค่อนข้างมากลงไปทั้งซี่คล้ายกับการสวมหมวกทับฟันลงไป มีจุดประสงค์หลักๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และช่วยให้ฟันกลับมามีสภาพดูเป็นปกติ
ครอบฟัน(Dental Crown)เหมาะกับใคร
ครอบฟันสามารถใช้ได้ในหลายกรณี ไม่ได้จำกัดเฉพาะความเสียหายหนักๆ ที่เกิดขึ้นกับฟันเสมอไป การตัดสินใจใช้ครอบฟันมักขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกับทันตแพทย์ โดยต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่ควรทำครอบฟัน
- ผู้ที่ได้รับความเสียหายรุนแรง เช่น ฟันแตก ฟันหัก ฟันบิ่น และต้องการรักษาฟันให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ มีสภาพเหมือนจริงมากที่สุด
- ผู้ที่มีฟันร้าว
- ผู้ที่ทำการรักษารากฟัน เนื่องจากฟันที่ผ่านการรักษารากมักจะเปราะ แตกหักได้ง่าย
- ผู้ที่มีฟันเปลี่ยนสีอย่างเห็นได้ชัด เช่นฟันตาย
- ผู้ที่มีวัสดุอุดใหญ่ หรือมีรอยผุขนาดใหญ่
- เด็กที่ฟันน้ำนมผุ และไม่อาจรักษาได้ด้วยการอุดฟัน
ครอบฟัน(Dental Crown)
- ครอบฟันโลหะล้วน (Full Metal Crown: FMC)
- ครอบฟันเซรามิกล้วน (All-ceramic crown: ACC)
- ครอบฟันโลหะเคลือบเซรามิก (Porcelain-fused-to-metal crown: PFM)
- ครอบฟันเรซินล้วน (All-resin crown)
ขั้นตอนการทำครอบฟัน
การทำครอบฟันอาจต้องไปพบทันตแพทย์ 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของแต่ละคน โดยขั้นตอนหลักๆ อาจมีดังนี้
- ทันตแพทย์จะทำการเอ็กซเรย์ (X-rays) เพื่อตรวจดูสภาพช่องปาก ฟัน และกระดูกว่าต้องการการรักษาแบบใด
- กรณีที่ต้องได้รับการรักษาอย่างอื่นก่อน เช่น มีฟันผุ หรือถ้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ เกิดการอักเสบบริเวณเนื้อฟัน ก็ควรรักษารากฟันก่อน
- เมื่อพิจารณาแล้วว่าฟันควรได้รับการทำครอบฟัน ทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่กรอฟันทั้งด้านบนและด้านข้าง เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับความหนาของครอบฟันแต่ละชนิด
- เมื่อกรอฟันเรียบร้อยแล้ว จะทำการพิมพ์ฟัน และเช็กสีฟันรอบข้างเพื่อนำไปผลิตครอบฟันขนาดที่พอดีกับฟันของคุณ โดยอาจผลิตในห้องปฏิบัติการซึ่งใช้เวลา -2 สัปดาห์
ปัจจุบันเทคโนโลยีในการพิมพ์ฟันด้วยระบบสแกนฟันสามมิติ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุพิมพ์ปากในการพิมพ์แบบฟันเช่นในอดีต
ที่คลินิกทันตกรรมเด็นทัลดีไซน์เซ็นเตอร์ เรานำเทคโนโลยี intraoral digital scanner 3 shape มาใช้ในการพิมพ์แบบฟันระบบดิจิตัล ด้วยเทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานสามมิติ ทำให้ครอบฟันสามารถถูกผลิตด้วยเครื่องกลึงทางทันตกรรม หลังจากที่ครอบฟันได้ถูกออกแบบโดยแลปทันตกรรม ทำให้ชิ้นงานครอบฟันที่ได้มีความแม่นยำ สวยงาม และรวดเร็วขึ้น
- ระหว่างรอครอบฟันของจริงที่จะนำมาใช้ ทันตแพทย์อาจให้คุณใส่ครอบฟันชั่วคราวก่อนเพื่อป้องกันฟันที่ถูกกรอไปแล้ว
- เมื่อถึงกำหนดนัดหมายใส่ครอบฟันของจริง ทันตแพทย์จะถอดครอบฟันชั่วคราวออก และตรวจสอบขนาดครอบฟันของจริง และสีครอบฟันอันใหม่ว่าเข้ากับฟันซี่อื่นหรือไม่ หากทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงทำการยึดครอบฟันด้วยซีเมนต์ทางทันตกรรม
- อย่างไรก็ตาม บางกรณีอาจมีการทำครอบฟันให้ภายในการนัดหมายเพียงครั้งเดียวหากทันตแพทย์มีอุปกรณ์ที่สามารถผลิตครอบฟันได้ในคลินิกเลย
ข้อดีของครอบฟัน
- ช่วยบูรณะฟันของคุณกลับมาแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารที่แข็งและเคี้ยวยากกว่าได้
- สามารถช่วยปรับการเรียงตัวของฟันให้สม่ำเสมอได้เท่ากับการทำวีเนียร์
- กรณีที่ฟันธรรมชาติมีความผิดปกติอันมาจาก โครงสร้างของฟันที่อ่อนแอ การทำครอบฟันจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ฟันดังกล่าวได้
ข้อเสียของครอบฟัน
- ในการทำครอบฟันแบบเซรามิกต้องกรอเนื้อฟันออกในปริมาณที่มากกว่า ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดในช่วงเวลาระหว่างทำ
- มีราคาสูงเมื่อเทียบกับการอุดฟัน อีกทั้งฟันที่อยู่ในครอบฟันอาจจะเกิดการผุได้ ดังนั้นผู้ทำครอบฟัน จึงต้องรักษาฟันทำให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นมาตรวจสุขภาพฟันที่ครอบกับทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน
โดยสรุปแล้ววีเนียร์กับการครอบฟันนั้นแตกต่างกันที่วีเนียร์จะเคลือบแค่ผิวฟันและส่วนใหญ่วีเนียร์จะแก้ไขได้แค่ฟันที่มีปัญหาไม่เยอะมาก หรือฟันสีคล้ำให้กลับมาสวยงาม ส่วนการครอบฟันนั้นจะเป็นการรักษาฟันที่มีปัญหาทั้งซี่หรือฟันที่ผุบิ่น มีปัญหามาก ๆ จนไม่สามารถบูรณะได้ด้วยอุดฟันอย่างเดียวได้แล้ว
สะพานฟัน(Dental Bridge)
สะพานฟัน (Dental Bridge) คือฟันปลอมติดแน่นชนิดหนึ่ง ทำพื่อทดแทนฟันที่หายไป 1-2 ซี่ โดยจะต้องทำการกรอฟัน 2 ข้างที่อยู่ติดกับช่องถอนฟัน เพื่อใช้เป็นหลักยึดของสะพานฟัน โดยตรงกลางของสะพานฟันจะลอยอยู่เหนือเหงือกคล้ายกับสะพาน ฟันซี่ตรงกลางของสะพานฟันนี้เรียกว่าฟันลอย (Pontics) เป็นฟันซี่ที่ทดแทนฟันที่เสียไป ด้วยเหตุนี้ข้อสำคัญคือ ฟันซี่ข้างเคียงที่ใช้เป็นหลักยึดของสะพานฟันจะต้องสมบูรณ์ แข็งแรง หรือฟันข้างเคียงอาจเป็นฟันที่ทำรากฟันเทียมก็ได้เช่นกัน
วัสดุที่ใช้ทำสะพานฟันนั้นคล้ายคลึงกับการทำครอบฟัน นั่นคือมีทั้งแบบทำจากโลหะล้วน เซรามิกล้วน หรือโลหะเคลือบเซรามิก
ทำไมต้องใส่สะพานฟัน(Dental Bridge)
สะพานฟันมีข้อดีหลายข้อ ดังนี้
- ช่วยให้สามารถกัด เคี้ยว และพูดได้ปกติยิ่งขึ้น
- สะพานฟันใช้งานสะดวก ติดแน่นกับฟันได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องกังวลว่าจะหลุดระหว่างการพูดคุยหรือรับประทานอาหาร
- ไม่ต้องคอยถอดออก หรือสวมใส่เป็นประจำเหมือนฟันปลอมแบบถอดได้
- สะพานฟันมีการกระจายน้ำหนักเพื่อรองรับการบดเคี้ยว คงทนแข็งแรง ใช้ทดแทนฟันธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
- สะพานฟันช่วยป้องกันการล้มของฟันซี่ข้างเคียงได้
- ช่วยให้สภาพฟันทุกซี่เรียงตัวกันเหมือนปกติ มีสีใกล้เคียงกับฟันซี่อื่นๆ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้รับบริการ
- ด้วยข้อดีและประโยชน์ดังกล่าว สะพานฟันจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีในการปกป้องฟัน และกลับมาใช้งานได้ปกติยิ่งขึ้น
ประเภทของสะพานฟัน
แม้สิ่งที่หลายคนนึกถึงสะพานฟันจะเป็นฟันหลายๆ ซี่เรียงติดกัน แต่ความจริงแล้วสะพานฟันมีด้วยกันหลักๆ ถึง 3 ประเภท ดังนี้
1. สะพานฟันแบบทั่วไป หรือสะพานฟันแบบดั้งเดิม
สะพานฟันแบบทั่วไป (Traditional bridge) หรือสะพานฟันแบบดั้งเดิม ถือเป็นรูปแบบที่นิยมทำมากที่สุด โดยจะใช้ฟันทั้งข้างซ้ายและข้างขวาของสะพานฟันเป็นหลักยึดกับฟันธรรมชาติของผู้รับบริการ และมีฟันลอย 1 หรือ 2 ซี่ เชื่อมอยู่ตรงกลางในตำแหน่งที่ฟันแท้หลุดออกไป
การใส่สะพานฟันแบบทั่วไปนี้ ทันตแพทย์จำเป็นต้องกรอฟันที่เป็นหลักยึดทั้ง 2 ข้างให้มีลักษณะเหมาะสมก่อนจะครอบสะพานฟันลงไป ข้อดีของสะพานฟันประเภทนี้คือใช้ในการบดเคี้ยวอาหารได้ดีกว่าสะพานฟันชนิดอื่นๆ แต่ข้อจำกัดสำคัญคือ จำเป็นต้องกรอฟันที่แข็งแรงเพื่อเป็นหลักยึดถึง 2 ซี่
2. สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว
สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว (Cantilever bridges) เป็นรูปแบบที่พัฒนาจากสะพานฟันแบบทั่วไป โดยมีลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่ใช้ฟันเป็นหลักยึดเพียงซี่เดียวเท่านั้น ผู้รับบริการจึงต้องถูกกรอฟันที่แข็งแรงเพียง 1 ซี่ แต่ความคงทนแข็งแรงจะไม่สูงนัก หากเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวจนเกินไปมีโอกาสแตกหักได้
3. สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์
สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ (Maryland bridges) หรือสะพานฟันที่ยึดด้วยเรซิน บางคนอาจเรียกว่าสะพานฟันแบบปีกผีเสื้อ เป็นสะพานฟันที่มีฟันปลอมเพียงซี่เดียวโดดๆ แต่มีแกนโลหะลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อติดอยู่ด้านหลัง
ปีกโลหะนี้จะทำหน้าที่ยึดเกาะกับฟันข้างเคียงทั้งซ้ายและขวาโดยใช้เรซินเป็นตัวเชื่อม ข้อดีคือไม่จำเป็นต้องกรอฟันข้างเคียงที่เป็นหลักยึดเลยแม้แต่ซี่เดียว แต่ข้อจำกัดคือความแข็งแรงจะไม่เท่ากับการทำสะพานฟันแบบทั่วไป
ขั้นตอนการทำสะพานฟัน
แม้การทำสะพานฟันจะไม่ใช่กระบวนการที่ซับซ้อนมากนักหากเทียบกับการทำรากฟันเทียม แต่การทำสะพานฟันส่วนมากมักต้องไปพบทันตแพทย์ 2 ครั้ง โดยมีขั้นตอนหลักๆ มีดังนี้
- เตรียมฟันสำหรับเป็นหลักยึด หากทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าควรทำสะพานฟัน นั่นหมายความว่าจะต้องมีฟันหลักยึดที่แข็งแรงดีอยู่ใกล้กับฟันซี่ที่สูญเสียไป ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันที่แข็งแรงดังกล่าวให้มีพื้นที่สำหรับสวมสะพานฟัน โดยจะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ก่อน
- พิมพ์ฟันเพื่อออกแบบสะพานฟัน หลังจากกรอฟันจนได้ขนาดที่เหมาะสมแล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ฟัน หรือใช้ดิจิตอลสแกน (Digital Scan) ช่องปาก เพื่อไปผลิตสะพานฟันในห้องปฏิบัติการซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ทันตแพทย์จะให้สะพานฟันแบบชั่วคราวมาใส่แทนก่อน
- ใส่สะพานฟันตามกำหนด เมื่อสะพานฟันของจริงเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะถอดเอาสะพานฟันชั่วคราวออก ปรับแต่งแก้ไขสะพานฟันของจริงจนพอดี แล้วใส่สะพานฟันของจริง โดยยึดด้วยซีเมนต์ทางทันตกรรม
- โดยปกติทันตแพทย์จะทำการตรวจสอบหลังจากใส่สะพานฟันของจริงว่าใส่ได้พอดีไหม ในช่วงนี้หากรู้สึกว่าตรงไหนไม่พอดีหรือเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ควรแจ้งกับทันตแพทย์เพื่อทำการปรับแก้ไขทันที
อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังใส่สะพานฟัน
หลังจากใส่สะพานฟันแล้วอาจรู้สึกเจ็บบ้างเล็กน้อยเนื่องจากทันตแพทย์ได้ทำการกรอฟันออกไป บางรายอาจมีเลือดออกบริเวณเหงือกบ้างเล็กน้อย โดยส่วนมากอาการเจ็บนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปในไม่กี่วัน แต่หากมีอาการเจ็บบริเวณเหงือกอาจต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์จึงจะหายสนิท
ข้อเสียของการทำสะพานฟัน อาจมีดังนี้
- จำเป็นต้องกรอฟันข้างเคียง ทำให้สูญเสียฟันธรรมชาติที่แข็งแรงไป
- เนื่องจากฟันที่เป็นหลักยึดยังเป็นฟันตามธรรมชาติ จึงมีโอกาสผุกร่อนใต้สะพานฟันได้
- สะพานฟันจะมีส่วนที่ลอยตัวอยู่เหนือเหงือก ซึ่งอาจทำความสะอาดยากกว่าฟันธรรมชาติ จึงต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษ
- นอกจากนี้หากตัวยึดของสะพานฟันเกิดหลวม หรือฟันซี่ที่เป็นหลักยึดเกิดผุกร่อน ทันตแพทย์อาจต้องรื้อสะพานฟันออกและทำการติดตั้งใหม่ หรือรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากดูแลรักษาสะพานฟันอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ ได้มาก
การดูแลรักษาสะพานฟัน
สะพานฟันมีความแข็งแรง และยึดติดแน่นไปกับฟันธรรมชาติ โดยการดูแลรักษาสะพานฟันไม่ได้มีวิธีที่พิเศษกว่าการดูแลฟันปกติมากนัก ดังนี้
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันชนิดพิเศษ (Superfloss) ขัดระหว่างเหงือกกับตัวสะพานฟัน หรืออาจใช้เครื่องฉีดพ่นแรงดันน้ำ (Water flosser) ฉีดทำความสะอาดใต้สะพานฟัน
- ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ทันตแพทย์ตรวจดูความเรียบร้อยของสะพานฟันและสุขภาพฟันโดยรอบ หากพบปัญหาจะได้แก้ไขได้ตั้งแต่ยังไม่ร้ายแรง
- ควรกินอาหารให้หลากหลาย เน้นอาหารจำพวกผักผลไม้และไฟเบอร์ (Fiber)4. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งเกินไป เช่น น้ำแข็ง ลูกอม เนื่องจากอาจทำให้สะพานฟันแตกได้